นิเทศโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน.ตำบลคูเมือง
กลุ่มอาชีพน้ำอ้อยแปรรูปบ้านเหมือดแอ่ หมู่ที่ ๑ ตำบลคูเมือง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖
น้ำอ้อยแปรรูป
ตามนโยบายการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีนโยบายเร่งด่วนให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพในระดับอำเภอและระดับตำบล เพื่อเป็นกลไกในการกำหนดทิศทาง อำนวยการ กำกับ ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริมสนับสนุนและบูรณาการ การดำเนินงานการจัดการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ ของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลคูเมือง อีกทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึก พัฒนา สาธิต และสร้างอาชีพในชุมชน รวมทั้งเป็น ที่จัดเก็บแสดง จำหน่าย และกระจายสินค้าและบริการของชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้มีการดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ของตำบลคูเมือง กศน.ตำบลคูเมือง จึงจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพตำบลคูเมือง
อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทำการเกษตร ทำงานโรงงาน รับราชการ ค้าขาย ฯลฯ แต่ก็ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวตำบลคูเมืองทำกันเป็นจำนวนมากนั้นก็คือ การทำไร่อ้อยโดยขายส่งโรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งชาวไร่อ้อยไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ดังนั้นหากมีการนำอ้อยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแปรรูปผลิตผล หรือสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ก็จะสามารถทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมก็ได้
กศน.ตำบลคูเมืองจึงได้จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อสำรวจความต้องการในการแก้ปัญหาของประชาชน จึงมีการนำอ้อยมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาชีพแปรรูป น้ำอ้อยสด น้ำอ้อยปึก น้ำอ้อยทรงเครื่อง น้ำเชื่อมจากน้ำอ้อยเป็นต้น อาชีพแปรรูปน้ำอ้อยเป็นการประกอบอาชีพ โดยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และต้นทุนทางสังคมของชุมชนมาบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มมูลค่า การแปรรูปน้ำอ้อยน้ำอ้อย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะเลือนหายไป และยังเป็น การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้เลือนหายไปจากชุมชน กศน.ตำบลคูเมือง จึงจัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลคูเมือง
วัสดุอุปกรณ์
๑. เตา
๒. กระทะ
๓. พาย
๔. ผ้าขาวบาง
๕. เครื่องรีดน้ำอ้อย
๖. แบบพิมพ์
๗. ทัพพี
๘. ฟืนหรือถ่าน
๙. อ้อยสด
วิธีทำ
๑. รีดน้ำอ้อยแล้วนำน้ำอ้อยไปกรองให้สะอาดด้วยผ้าขาวบาง
๒. ก่อไฟเตรียมไว้ แล้วตั้งกระทะเตรียมไว้เพื่อใส่น้ำอ้อย
๓. นำน้ำอ้อยที่ผ่านการกรองด้วยผ้าขาวบางแล้ว ใส่ลงในกระทะ
๔. ควบคุมไฟให้สม่ำเสมอ ทำการซ้อนฟองและสิ่งเจือปนออกให้สะอาด
๕. ใช้พายกวน ให้ทั่ว ๆ กระทะถ้าไม่กวน จะทำให้เกิดน้ำเชื่อมไหม้ที่ขอบกระทะ และต้องสังเกตไฟตลอดเวลา เมื่อดูด้วยสายตาเห็นว่า น้ำเชื่อมยุบตัวแล้วจะใช้กวนเป็นน้ำตาลได้หรือยัง โดยให้ใช้ไม้แป้นตักน้ำเชื่อมไปทดสอบโดยการเขย่าในน้ำเย็น ให้น้ำเชื่อมหลุดจากแป้น ถ้าบีบดูแล้วน้ำเชื่อมยังอ่อนตัวอยู่ให้เคี้ยวต่อไปจนกว่าน้ำเชื่อมจะแข็งตัว ทดสอบโดยการปั้นน้ำเชื่อมให้เป็นก้อนแล้วโยนก้อนน้ำเชื่อมให้กระทบขอบอ้างดินเผา จะเกิดเสียงคล้ายของแข็งกระทบกันเป็นอันว่าใช้ได้
๖. วางบนผ้าขาวบางบนแบบพิมพ์ หยอดน้ำอ้อยที่กวนได้ที่แล้วบนแบบพิมพ์ ทิ้งไว้ประมาณ ๘ – ๑๐ นาที หรือสังเกตด้วยสายตา หรือสัมผัส เมื่อน้ำตาลแข็งตัวแล้วแคะออกจากแบบพิมพ์
๗. เก็บในที่แห้งและบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย
รายงานโดย : นางเบญจพร ดีเลิศ ครู กศน.ตำบล
ที่ปรึกษา : นางจิตมาษ กาญจนธัชทอง ผอ.กศน.อำเภอหนองบัวแดง