ในระหว่างวันที่ ๕ - ๙ สิงหาคม ๒๕๕๖
ณ โรงแรมขอนแก่น โฮเต็ล จังหวัดขอนแก่น
ประธานกล่าวเปิดโครงการ
นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงาน กศน.
ครู กศน.อำเภอหนองบัวแดงเข้าร่วมโครงการ
แบ่งกลุ่มทำแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้
การจัดกระบวนการเรียนรู้ กศน. (ONIE MODEL)
เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบตามปรัชญา “คิดเป็น” ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ ๑ กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ (O: Orientation)
ขั้นที่ ๒ แสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)
ขั้นที่ ๓ ปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้ (I: Implementation)
ขั้นที่ ๔ ประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)
ขั้นที่ ๑ กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ (O: Orientation)
เป็นการเรียนรู้จากสภาพ ปัญหา หรือความต้องการของผู้เรียน และชุมชน สังคม โดยให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร
ขั้นตอนการเรียนรู้
๑) ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะได้มาจากสถานการณ์ในขณะนั้น หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือเป็นประเด็นที่กำลังขัดแย้ง และกำลังอยู่ในความสนใจของชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่คิดจะหาทางออกของปัญหา หรือความต้องการนั้น ๆ
๒) ทำความเข้าใจกับสภาพ ปัญหา ความต้องการในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ โดยดึงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เน้นการมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนความคิดและอภิปรายโดยให้เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่
๓) วางแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดสามารถมองเห็นแนวทางในการค้นพบความรู้หรือคำตอบได้ด้วยตนเอง
ขั้นที่ ๒ ขั้นแสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)
การแสวงหาข้อมูล และจัดการเรียนรู้ โดยศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และรวบรวมข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของชุมชน สังคม และข้อมูลทางวิชาการ จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมีการระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และสรุปเป็นความรู้
ขั้นตอนการเรียนรู้
๑) ผู้เรียนแสวงหาความรู้ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ กระบวนการกลุ่ม ศึกษาจากผู้รู้ /ภูมิปัญญาและวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม
๒) ครูและผู้เรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปความรู้เบื้องต้น โดยใช้คำถามปลายเปิดในการชวนคิด ชวนคุย เป็นเครื่องมือ ด้วยกระบวนการการระดมสมอง สะท้อนความคิดและอภิปราย
๓) ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประเมินความเป็นไปได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การทดลอง การทดสอบ การตรวจสอบกับผู้รู้
ขั้นที่ ๓ การปฏิบัติแลละนำไปประยุกต์ใช้ ( I: Implementation)
นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหมาะสมกับวัฒนธรรมและสังคม
ขั้นตอนการเรียนรู้
ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอน โดยสังเกตปรากฏการณ์ จดบันทึก และสรุปผล เก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน ระหว่างดำเนินการต้องมีการตรวจสอบหาข้อบกพร่อง และรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน
ขั้นที่ ๔ การประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)
ประเมิน ทบทวน แก้ไขข้อบกพร่อง ผลจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แล้วสรุปเป็นความรู้ใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ผลงาน
ขั้นตอนการเรียนรู้
ครู และผู้เรียนนำแฟ้มสะสมงานและผลงานที่ได้จากกการปฏิบัติมาใช้เป็นสารสนเทศในการประเมินคุณภาพการเรียนรู้
๑) ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างเกณฑ์การประเมินคุณภาพการเรียนรู้
๒) ครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมิน พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพการเรียนรู้
การจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้ง ๔ ขั้นตอนเป็นวงจรของกระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญาคิดเป็น ซึ่งสถานศึกษาสามารถปรับใช้ ขั้นตอนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของรายวิชา หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน
รายงานโดย : นางเบญจพร ดีเลิศ ครู กศน.ตำบลคูเมือง
ที่ปรึกษา : นางจิตมาษ กาญจนธัชทอง ผอ.กศน.อำเภอหนองบัวแดง