[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 


เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความสุขภาพ
หัวข้อเรื่อง : ยา

อังคาร ที่ 15 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2555

คะแนน vote : 542  




1) คนไทยมีการบริโภคยาที่เกินความจำเป็น ?
      
       คนไทย ส่วนมากมักมีทัศนคติเชิงบวกที่ดีต่อยา โดยเชื่อว่ายาเป็นของดีที่สามารถส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับตนเองได้ ทัศนคติเช่นนี้ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่มีลักษณะเฉพาะบางประการต่าง จากประเทศอื่น เช่นความนิยมในการใช้ยาชุด หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาแก้อักเสบ) อย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากทัศนคติพื้นฐานในเรื่องความเจ็บป่วยที่คนไทยนิยมฝากความหวังไว้การใช้ ยารักษาโรคแล้ว การที่ระบบการกระจายยาในประเทศของเรามีลักษณะค่อนข้างเสรีเช่น แพทย์สามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วย ร้านยา สามารถขายยาเกือบทุกชนิดได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ หรือร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อต่างๆ สามารถขายยาได้โดยไม่มีการควบคุม เป็นต้น ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการบริโภคยาที่เกินความจำเป็นในประเทศไทย คำถามก็คือสภาวการณ์เช่นนี้มีส่วนทำให้สุขภาพของคนไทยสมบูรณ์ดีพึงประสงค์ หรือไม่ ?
      
       คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นที่อยู่ใน ใจของแต่ละคนคงแตกต่างกันไปตามความเห็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงที่แต่ละคนได้พบมา อย่างไรก็ดีประจักษ์พยานในเรื่องปัญหายากับสุขภาพของคนไทยที่สังเกตได้ง่าย คือ จำนวนผู้รอรับยาจากห้องยาของโรงพยาบาลรัฐที่ยังคงมีคิวยืดยาว และจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่น่าเบื่อหน่ายของผู้ป่วยมากที่สุดเมื่อต้องใช้ บริการสุขภาพจากรัฐ ดังนั้นจึงยังดูเหมือนว่ายายังคงเป็นสิ่งที่ต้องการของผู้ป่วยอีกจำนวนไม่ น้อย แม้ว่าพวกเขาจะสามารถหาซื้อได้ค่อนข้างง่ายแล้วก็ตาม
      
       มูลค่า การบริโภคยาในประเทศไทย ในแต่ละปีมีประมาณ 27,000-34,000 ล้านบาท (คิดจากราคาขายส่งปี พ.ศ. 2541-2543) หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศทางตะวันตกหรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งค่าใช้จ่าย ด้านยามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-20 นอกจากนี้สัดส่วนของยาที่ผลิตในประเทศต่อยานำเข้าของประเทศไทยเท่ากับ 56:44 ค่าใช้จ่ายด้านยาจึงเป็นภาระที่หนักสำหรับระบบสาธารณสุข กลุ่มยาที่มีการใช้มากที่สุด ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาระบบทางเดินอาหาร ยาระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาระบบทางเดินหายใจ และยาระบบประสาทกลาง โดยในปี พ.ศ. 2542 ยาเหล่านี้มีมูลค่ารวมมากกว่า 2 ใน 3 ของการใช้ยาทั้งหมดในประเทศ มีข้อสังเกตว่าการบริโภคยาในปริมาณที่มากเช่นนี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง และในอนาคตเมื่อการค้าระหว่างประเทศเป็นแบบเปิดตลาดเสรีมากขึ้น โอกาสที่มูลค่ายานำเข้าจะสูงขึ้นและเข้ามาทดแทนยาที่ผลิตในประเทศก็จะเพิ่ม มากขึ้นด้วย
      
       2) คนไทยมีความเสี่ยงกับการใช้ยาด้อยคุณภาพ
      
       ตามกฎหมายปัจจุบันแบ่งยาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย และยาบรรจุเสร็จ โดยกำหนดให้ยา 2 กลุ่มแรกต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะนอกสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาตามคลินิกเอกชน หรือร้านยา สามารถได้รับยาเกือบทุกกลุ่ม (โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยา) ผู้ป่วยส่วนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายาที่ตนเองได้รับเป็นยาชื่ออะไร ใช้เพื่ออะไร หรือมีคุณภาพเช่นไร ผลก็คือผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาด้อยคุณภาพ เช่น ยาผิดมาตรฐาน (substandard drugs) ยาปลอม (counterfeit drugs) หรือยาเสื่อมคุณภาพ โดยไม่รู้เท่าทัน มีข้อมูลการศึกษาในประเทศต่างๆ จำนวนมากที่บ่งชี้ว่าผู้บริโภคในประเทศด้อยพัฒนามีความเสี่ยงที่จะได้รับยา ด้อยคุณภาพ เช่น การสำรวจในประเทศไนจีเรีย (พ.ศ. 2544) และแทนซาเนีย (พ.ศ. 2545) พบว่าเมื่อตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานของเภสัชตำรับ USP มียาด้อยคุณภาพในท้องตลาดมากถึง 48% (ยาที่สำรวจได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านมาลาเรีย ยาต้านวัณโรค ยาต้านเชื้อรา) และ 32% (ยาที่สำรวจได้แก่ พาราเซทตามอล แอสไพริน ยาต้านมาลาเรีย) ตามลำดับ ใกล้เข้ามาแถบบ้านเราคือ การสำรวจในประเทศกัมพูชา (พ.ศ. 2540) พบยาต้านจุลชีพด้อยคุณภาพ 28% ผลสำรวจในพม่าและเวียดนามก็พบว่ามียาด้อยคุณภาพในสัดส่วนที่น่าวิตกเช่นกัน สำหรับในประเทศไทยมีรายงานสำรวจ การตรวจพบยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ ยาผิดมาตรฐาน อยู่ด้วยเช่นกันเช่น การสำรวจคุณภาพยาต้านโรคลมชัก phenytoin ตรวจพบยาที่มีการปลดปล่อยตัวยาสำคัญผิดมาตรฐานร้อยละ 52.5 การสำรวจคุณภาพยาเม็ดโทลเพอริโซน ไฮโดรคลอไรด์ในปี 2544 พบปัญหาการคงสภาพ มีปริมาณตัวยาสำคัญผิดมาตรฐานร้อยละ 14.5 และมีการสลายตัวของสารผิดมาตรฐานร้อยละ 44 เป็นต้น โดยสรุปข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระหว่างปี 2543-2544 พบว่ากลุ่มยาที่มีรายงานปัญหาการปลอมแปลง หรือด้อยคุณภาพ โดยลักษณะการด้อยคุณภาพที่มีพบได้แก่ ไม่มีสารออกฤทธิ์สำคัญ (43%) มีสารสำคัญน้อยกว่าที่ระบุ (21%) คุณภาพการผลิตด้อย (24%) สารสำคัญต่างชนิด (7%) และการปลอมฉลาก (5%)
      
       ผลเสียของการใช้ยา ด้อยคุณภาพมีมากมาย ตัวอย่างเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะด้อยคุณภาพที่มีปริมาณยาสำคัญไม่ครบขนาด (เช่น ฉลากระบุขนาด 500 มก. แต่มีตัวยาจริงเพียง 300-400 มก.) นอกจากผลรุนแรงที่สุดคืออาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากได้รับยารักษาไม่ ทันท่วงที ยังอาจทำให้เชื้อโรคที่เป็นเป้าหมายการรักษาไม่ตายแล้ว ส่งเสริมให้เชื้อชนิดนั้น หรือชนิดอื่นที่ได้รับสัมผัสยามีความคุ้นเคย และพัฒนาไปสู่การดื้อยา และขยายพันธุกรรมเชื้อดื้อยาออกในวงกว้างมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาที่มีราคาแพง และแพร่ความรุนแรงของการระบาดออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ที่จริงความหมายของยาด้อยคุณภาพไม่ได้หมายเพียงการมีปริมาณยาไม่ครบขนาด แต่ยังรวมถึงการมียามากเกินขนาดที่ระบุไว้ในฉลาก หรือมีสารปนเปื้อนอื่นมากเกินปริมาณที่กำหนดด้วย
      
       ที่จริง ไม่เพียงผู้บริโภค หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถประเมินคุณภาพยา แม้แต่แพทย์ผู้สั่งใช้ หรือเภสัชกรที่จัดซื้อยาเข้าโรงพยาบาล หรือร้านยาบ่อยครั้งก็มักไม่ทราบว่าจะประเมินคุณภาพยาได้อย่างไร ส่วนหนึ่งจึงอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้จำหน่าย และองค์ประกอบด้านราคา ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่อมีการแข่งขันด้านราคายาที่สูง โดยกลุ่มยาที่มีราคาแพงจะอ้างว่ายาของตนมีคุณภาพดีกว่ายาชนิดเดียวกันที่ ผลิตจากบริษัทอื่นที่มีราคาถูกกว่า คำถามก็คือตรรกะเช่นนี้เป็นจริงเสมอไปหรือไม่
      
      
       3) เหตุที่ราคายาชนิดเดียวกันมีราคาแตกต่างกันมาก
       ยาชนิดเดียวกันเมื่อมีการผลิตจากหลายบริษัทอาจมีราคาขายที่แตกต่างกันได้มาก เนื่องจากยาเป็นสินค้าชนิดหนึ่งมูลค่าของยาจึงมีองค์ประกอบต้นทุนที่เป็น ส่วนที่ของต้นทุนคงที่ และต้นทุนแปรผันแตกต่างกันในยาแต่ละชนิด อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ายาใหม่ (brand name or original drugs) มักจะมีราคาแพงมากกว่ายาเก่าในกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากบริษัทยาผู้ผลิตจำเป็นต้องได้รับกำไรชดเชยค่าใช้จ่ายสำหรับการลง ทุนด้านวิจัยและพัฒนา (research and development cost) ยาชนิดนั้นๆ ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาจำหน่ายในท้องตลาดได้ บริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรของยาใหม่จึงได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 20 ปี นับแต่วันจดทะเบียนสิทธิบัตรการค้นพบ) เมื่อครบกำหนดบริษัทยาอื่นก็สามารถผลิตยาชนิดเดียวกันนั้นออกจำหน่ายด้วย เช่นกัน แต่ต้องใช้ชื่อการค้าอื่นหรือใช้ชื่อทางเคมีของยาโดยตรง จึงนิยมเรียกยาที่ผลิตออกจากต่างบริษัทในภายหลังว่าเป็นยาเลียนแบบ หรือ ยาสามัญ (generic drugs) ซึ่งส่วนใหญ่มักมีราคาถูกลงมาก เนื่องจากบริษัทที่ผลิตขึ้นตามในภายหลังเหล่านี้ไม่มีต้นทุนด้านการวิจัยและ พัฒนามากเหมือนบริษัทต้นแบบ
      
       ปัญหาเรื่องการกำหนดราคายาที่เหมาะสมจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่มีข้อถกเถียงกันมา อย่างต่อเนื่องยาวนาน ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมยาของบริษัทข้ามชาติที่เป็นหัวขบวนในการคิดค้นพัฒนา ยาใหม่เข้าสู่ระบบสาธารณสุข กับกลุ่มบริษัทยาขนาดเล็กที่มุ่งเน้นผลิตยาสามัญและประเทศด้อยพัฒนาที่มี ฐานะจำกัดทางเศรษฐกิจ คนกลางที่เป็นผู้ตัดสินได้แก่องค์กรของรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุขของ แต่ละประเทศที่ต้องรักษาดุลยภาพระหว่างการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนายาใหม่ ที่จำเป็นต่อการต่อสู้โรคร้ายต่างๆ กับโอกาสในการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน
      
       คำถามที่ทำให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยา หรือผู้ป่วยมักลังเลในการเลือกใช้ยาชนิดเดียวกันที่มีราคาแตกต่างกันได้มาก ตั้งแต่ 2-30 เท่าขึ้นไปก็คือ คุณภาพของยาระหว่างชนิดราคาถูก (ยาสามัญ) จะดีเท่าชนิดที่มีราคาแพง (ยาต้นแบบ) หรือไม่ คำตอบสุดท้ายในเรื่องนี้คงไม่อาจตอบได้อย่างง่ายๆ ในทุกกรณี เนื่องจากการประเมินคุณภาพของยาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หากมีความตั้งใจจริงและมีระบบตรวจสอบประเมิน คุณภาพที่ดีพอรองรับ
      
       4) คนไทยมีสิทธิ์ใช้ยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสม
      
       ในประเทศ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบควบคุมคุณภาพยาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งใน โลก ปัญหาเรื่องการเลือกใช้ยาคุณภาพที่มีราคาเหมาะสม ซึ่งจะทำให้อเมริกันชนสามารถเข้าถึงยาที่ตนเองต้องการได้อย่างพอเพียงได้ เป็นที่สนใจมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว เนื่องจากระบบตลาดเสรีและการมีอายุจำกัดของสิทธิบัตรยาใหม่ทำให้เกิดการแข่ง ขันในการผลิตยามากในอเมริกาเป็นอย่างมาก นำมาสู่ข้อสงสัยของตรรกะที่กล่าวมาแล้วว่า ยาราคาแพง (ยาต้นแบบ) จำเป็นต้องดีกว่ายาราคาถูกเสมอไปหรือไม่ ปัญหานี้ทำให้หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพยาคือ US FDA ต้องจัดทำระบบรับรองคุณภาพยาที่เรียกว่า Orange Book (Approved Drug Product with Therapeutic Equivalence Evaluations) เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สั่งใช้ยา ผู้บริโภค รวมทั้งบริษัทประกันหรือ Third Party Payers กลุ่มต่างๆ ให้มีความมั่นใจในการเลือกใช้ยาคุณภาพทดแทนกันได้ หากมีความจำเป็น หรือเป็นความต้องการเฉพาะกรณี มีข้อสังเกตว่าระบบคุณภาพ Orange Book เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการออกฎหมาย The Drug Price Competition and Patent Term Restoration Act (Waxman-Hatch Act) ในปีพ.ศ. 2527 ซึ่งออกมาเพื่อประนีประนอมกลไกของรัฐระหว่างเอื้อให้เกิดการแข่งขันในด้าน ราคายา และสนับสนุนให้มีการผลิตยาสามัญเพื่อแข่งกับยาต้นแบบที่สิทธิบัตรคุ้มครองยา หมดอายุแล้ว
      
       มีปัจจัยจากหลายด้านที่ส่งผลต่อคุณภาพยา ประกอบกับความจำกัดด้านทรัพยากรของประเทศ เราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบยาที่ทันสมัย มีระบบรับรองคุณภาพยาที่มีจำหน่ายในประเทศ ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้ผู้ใช้ได้ไม่ว่ายานั้นจะมีแหล่งผลิตจากแหล่งใด เพื่อให้โอกาสในการเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมของแต่ละคน ผู้สั่งใช้ยาและผู้บริโภคควรมีความตื่นตัว ศึกษาข้อมูล และมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลยาคุณภาพที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
      
       พึงตระหนักว่าการทำให้ผู้สั่งใช้ยา และผู้ป่วยมีความมั่นใจในคุณภาพยาเป็นความจำเป็นพื้นฐานของความสำเร็จในการใช้ยาใดๆ ในทางตรงกันข้ามผลเสียของการขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพยาย่อมนำไปสู่ความสิ้น เปลืองทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวของการรักษาโรค ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับผู้ป่วย และบั่นทอนประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างมากในท้ายที่สุด
      
       โดย วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล
       wong_tas@kku.ac.th


เข้าชม : 7170


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      ยา 15 / พ.ค. / 2555
      สุขภาพ 8 / พ.ค. / 2555
      ณประโยชน์จากแอปเปิ้ล และบลูเบอร์รี่ มาช่วยลดความเครียด 11 / ก.พ. / 2554
      ใครที่ชอบทานเต้าหู้ 19 / มิ.ย. / 2551
      อาบน้ำให้หมดจด ห่างไกลโรคภัย 27 / เม.ย. / 2551


 
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดชัยภูมิ
90  ถนนบรรณาการ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ  36000
pnang_2307@hotmail.com


Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by