การอ่านมีความสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งเทคโนโลยีเจริญรุดหน้าไปเท่าไหร่ การอ่านยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากเท่านั้น แต่การอ่านจะต้องได้รับการปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยจากครอบครัว โรงเรียน และสังคม การส่งเสริมให้เยาวชนมีนิสัยรักการอ่านรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเองนั้น จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าว่าไม่ยากก็ไม่ถึงกับเหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครอบครัว โรงเรียน และสภาพสังคม
แนวทางของกรมวิชาการในการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถโดยส่งเสริมให้เยาวชนมีนิสัยรักการอ่าน รู้จักศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อการส่งเสริมการอ่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมาและมีการเผยแพร่เทคนิคการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างกว้างขวาง เช่น ส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยมีนโยบายมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด มีการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็นทำเป็น มีนิสัยรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (กรมวิชาการ.2544 : 1)
ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันจะต้องสร้างความตระหนัก และฝึกฝนให้เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียนยิ่งขึ้น จะต้องอ่านเก่ง คิดเป็น และสื่อสารเป็นจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต
การอ่าน สำหรับประเทศไทยหรือคนไทยแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับพลเมืองประเทศอื่นๆ การส่งเสริมการอ่านควรได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ
- รัฐควรส่งเสริมเรื่องห้องสมุดประจำหมู่บ้านและชุมชน
- หนังสือที่ผลิตจำหน่ายในท้องตลาดไม่ควรมีราคาแพงเกินไป รัฐควรเข้ามาชดเชยส่วนต่างแก่ผู้ผลิต เรียกว่าการประกันรายได้ของผู้ประกอบการ
- หนังสือควรมีเนื้อหาน่าสนใจ หลากหลาย หาอ่านได้ง่าย
- ส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือ
- มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรักการอ่านมากยิ่งขึ้น
- หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ โรงเรียนควรมีห้องสมุดเปิดกว้างสำหรับเด็ก ไม่ควรจัดห้องสมุดเพื่อประกวดความสวยงาม แต่ควรเน้นที่กิจกรรมการอ่านมากกว่า
การพัฒนาคนให้มีคุณภาพสูงจะต้องใช้กระบวนการทางการศึกษาเป็นหลัก คนที่ได้รับการศึกษา (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด (ถวัลย์ มาศจรัส. 2538 : 10)
การอ่านหนังสือนั้นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนเราอย่างยิ่ง จินตนาใบกาซูยี (2543 : 23) ได้สรุปบทบรรยายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า
1. การอ่านหนังสือทำให้ได้เนื้อหาสาระความรู้มากกว่าการศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฟัง
2. ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาและสถานที่ สามารถนำไปไหนมาไหนได้
3. หนังสือเก็บได้นานกว่าสื่ออย่างอื่นซึ่งมักมีอายุการใช้งานจำกัด
4. ผู้อ่านสามารถฝึกการคิดและสร้างจินตนาการได้เองในขณะอ่าน
5. การอ่านส่งเสริมให้มีสมองดี มีสมาธินานกว่าและมากกว่าสื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะขณะอ่าน จิตใจจะต้องมุ่งมั่นอยู่กับข้อความ พินิจพิเคราะห์ข้อความนั้นๆ
6. ผู้อ่านเป็นผู้กำหนดการอ่านได้ด้วยตนเอง จะอ่านคร่าวๆ อ่านละเอียด อ่านข้ามหรืออ่านทุกตัวอักษรเป็นไปตามใจของผู้อ่านหรือจะเลือกอ่านเล่มไหนก็ได้ เพราะหนังสือมีมาก สามารถเลือกอ่านเองได้
7. หนังสือมีหลากหลายรูปแบบและราคาถูกกว่าสื่ออย่างอื่น จึงทำให้สมองของผู้อ่านเปิดกว้าง สร้างแนวคิดและทัศนคติได้มากกว่า ทำให้ผู้อ่านไม่ติดยึดอยู่กับแนวคิดใดๆโดยเฉพาะ
8. ผู้อ่านเกิดความคิดเห็นได้ด้วยตนเองวินิจฉัยเนื้อหาสาระได้ด้วยตนเอง รวมทั้งหนังสือบางเล่มสามารถนำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลดี
ประเภทของการอ่านการอ่านหนังสือแต่ละชนิดเราใช้อัตราเร็วในการอ่านต่างกัน ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์หรือนวนิยายเราอ่านได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นหนังสือวิชาการ เราต้องใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น นักอ่านที่เชี่ยวชาญจะเลือกใช้วิธีการอ่านที่แตกต่างกัน ในการอ่านหนังสือแต่ละประเภท นักเรียนจะสามารถเก็บข้อมูลความรู้ได้ดีมากขึ้น ถ้ามีความสามารถในการอ่านแบบต่างๆ ได้หลายแบบ และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม
การอ่านแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. การอ่านแบบกวาด (scanning) เป็นการมองหาประเด็นสำคัญอย่างรวดเร็วเช่น หาหน้า หาชื่อเรื่อง หาคำสำคัญบางคำประเด็นสำคัญของการอ่านแบบนี้คือ นักเรียนตั้งใจที่จะมองข้ามสิ่งอื่นๆ นอกจากสิ่งที่นักเรียนต้องการหา
2. การอ่านอย่างคร่าวๆ (skimming) คือการอ่านอย่างเร็วๆ เพื่อดูว่ามีเนื้อหาสาระอะไรที่น่าสนใจบ้าง โดยไม่ตั้งใจที่จะค้นหาสิ่งที่เฉพาะเจาะจงเหมือนอย่างการอ่านกวาดเช่น นักเรียนหยิบหนังสือเกี่ยวกับสังคมขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วพลิกอ่าน มองหาแนวคิดสำคัญๆในแต่ละย่อหน้า มองดูชื่อบทและอื่นๆ เพื่อสำรวจว่าหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจ หรือมีประโยชน์ที่นักเรียนจะใช้ได้หรือไม่
3. การอ่านแบบสบายๆ เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่อ่านหนังสือกัน เช่น การอ่านนิยายการ์ตูน วารสารเพื่อความบันเทิง บ่อยครั้งการ์ตูน วารสารเพื่อความบันเทิง บ่อยครั้งเป็นการอ่านเพื่อหลบหนีจากโลกจริงที่มีแต่ปัญหาและความยุ่งยากใจไปสู่อีกโลกหนึ่ง เราไม่มีความจำเป็นต้องย่อยเนื้อหาเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องอ่านอย่างพินิจพิจารณา การอ่านวิธีนี้จะอ่านได้อย่างรวดเร็ว และผิวเผิน การอ่านเช่นนี้มีคุณค่าที่สำคัญคืออ่านเพื่อความบันเทิง ทำให้เกิดความสุข ความโล่งใจ ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดได้
4. การอ่านเพื่อการศึกษา การอ่านหนังสือประเภทตำราวิชาการต่างๆ จุดมุ่งหมายก็คือต้องการที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาอย่างแท้จริง การอ่านแบบนี้ต้องอ่านอย่างตั้งใจ จับประเด็นสำคัญที่อ่านให้ได้ สามารถโยงความสัมพันธ์ในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันได้ การอ่านเพื่อการศึกษาควรจดโน้ตย่อใจความ หรือหัวข้อสำคัญที่ได้อ่านมาด้วย
5. การอ่านแบบคำต่อคำ มีหนังสือหรือบทความบางอย่างที่ต้องการอ่านแบบคำต่อคำ เช่น หนังสือสัญญา หนังสือภาษาต่างประเทศสูตรคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เราอ่านภาษาต่างประเทศแบบคำต่อคำ ในกรณีที่เราเพิ่งเรียนรู้ภาษานั้นๆ คำทุกคำเป็นคำใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย สำหรับคนที่อ่านภาษาต่างประเทศได้คล่องแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเขาอาจจะอ่านแบบอื่นๆ ได้ ทำนองเดียวกับการอ่านหนังสือภาษาไทย สูตรคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต้องให้ความสนใจมาก เพราะสูตรเป็นวิธีย่อ เพื่อให้ได้ข้อความที่มีความหมายยาวขึ้น โดยไม่เสียเวลาอธิบาย
ถึงอย่างไรก็ตาม การอ่านไม่ว่าจะอ่านด้วยวิธีการแบบไหนก็แล้วแต่ ล้วนแต่เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะการอ่านคือการพัฒนาตนเอง อ่านไม่ต้องมากมาย แต่อ่านทุกวัน ฝึกจนเป็นนิสัย ก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เกิดนักคิด นักประดิษฐ์มากขึ้น มีนักคิด นักจินตนาการเพื่อสนองตอบสังคมแห่งการเรียนรู้ แก้ปัญหาสังคม ปัญหาประเทศชาติได้อย่างแน่นอน
อ่านกันเถิดนะถ้าอยากเก่ง ไม่ถึงกับเครียดเคร่งกันหรอกหนาเพราะหนังสือมีคุณแก่ชีวา ถ้าอ่านกันวันละนิดจิตสบาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย เสถียร ยอดดี โรงเรียนบ้านหนองเต่า สพป.นม.6
เข้าชม : 4090
|