อานิสงส์พิเศษของบุญกฐิน
ถาม : ..................
ตอบ : ช่วงนี้เป็นช่วงของกาลกฐิน คำว่ากาลนั้น กาละแปลว่าเวลา เวลาของกฐิน กฐินจริงๆ ความหมายก็คือ ผ้าสะดึง ผ้าที่ขึง เครื่องขึงที่ยึดผ้าให้ตึงจะได้ประกอบให้เป็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเย็บปักถักร้อยอะไรก็ง่าย
กาลกฐินจะเป็นเรื่องกำหนดตามระเบียบพิธีของสงฆ์ โดยเฉพาะพระภิกษุที่จำพรรษาแล้วเป็นเวลาครบถ้วน ๓ เดือน สมัยก่อนนั้นพระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้เปลี่ยนจีวรได้ คราวนี้ว่าการเปลี่ยนจีวรนี้ต้องสมเหตุสมผล คือว่าเป็นผู้ที่จีวรเก่าจริงๆ ชนิดที่เรียกว่าหมดสภาพแล้วก็อนุญาตให้เปลี่ยนได้ ท่านก็ให้เสาะหาผ้าที่จะมาทำจีวร
ภายหลังการเสาะหาผ้าเต็มไปด้วยความยากลำบาก นางวิสาขาก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ก็ขอให้รับคหปติจีวร คือจีวรที่มีผู้น้อมมาถวายได้ คราวนี้พอจำพรรษาแล้วครบสามเดือนมีสิทธิรับกฐินได้ กาลกฐิน คือ เวลาของการรับกฐิน เริ่มตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดไปสิ้นสุดเอากลางเดือนสิบสองเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม
ช่วงระยะนี้วัดไหนก็ตามที่มีเจ้าภาพตั้งใจว่าจะถวายกฐินก็จะจัดให้ถวายกฐินขึ้นมา คราวนี้กฐินเป็นงานบุญพิเศษ ความจริงกฐินเป็นสังฆทานเหมือนกันแต่บังเอิญว่าจำกัดด้วยเวลา คือ ทำได้แค่เดือนเดียวเท่านั้นในหนึ่งปี ก็เลยจะมีอานิสงส์พิเศษ
หลวงพ่อวัดท่าซุงเคยบอกเอาไว้ว่า ให้เรารู้จักสังเกตตัวเอง ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพทำบุญกฐิน คำว่าเจ้าภาพไม่ได้หมายความว่าจะต้องเจาะจงว่าตัวเองเป็นประธานหรือว่าหาสิ่งของทั้งหมดมา เราร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยจะเล็กน้อยอย่างไรก็ตามถือว่าเป็นเจ้าภาพเหมือนกัน ท่านบอกว่าบุคคลที่ตั้งใจเป็นเจ้าภาพกฐินติดต่อกันได้ถึงสามปี ให้สังเกตความเป็นอยู่ของตัวเอง ความเป็นอยู่จะคล่องตัวกว่าคนอื่นเขา จะมีความสะดวกกว่า เพราะฉะนั้นก็ให้พวกเราตั้งใจลักษณะนี้
ตัวอาตมาเองตั้งใจตั้งแต่ก่อนบวชจนกระทั่งถึงบวชแล้ว แต่ละปีจะทำบุญกฐินปีละมากๆ หลายๆ วัด สมัยที่ก่อนบวชถึงเวลาหน้ากฐินก็เตรียมซองไว้เลย ซองละพันๆ เจอเขาทำที่ไหนก็ถวายร่วมกับเขาที่นั่น พอเป็นพระมาก็ใช้วิธีจัดแบบนี้ คือว่านิมนต์พระที่ท่านไม่มีกฐินหรือว่าพระที่เป็นมิตรสหายคุ้นเคยกันมา มารับกฐินที่วัดของเรา หรือว่าอย่างระยะหลังๆ ไปเป็นประธานทอดให้เขาด้วย หรือว่าทางด้านโน้นเขาเรียกร้องมาก็ต้องไป
อานิสงส์ที่ชัดที่สุด ก็คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระพุทธเจ้าสมัยที่ท่านเกิดเป็นมหาทุคตะ คือ คนที่จนมาก ท่านเป็นคนรับใช้คนอื่นเขา ในสมัยนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีนามว่าปทุมุตตระ ท่านเป็นคนใช้เขา เจ้านายจะจัดกฐินก็สั่งให้มหาทุคตะจัดการให้ทุกอย่าง มหาทุคตะก็บอกว่า ข้าแต่นายขอร่วมมีส่วนในกฐินนี้ได้หรือไม่ นายก็บอกว่าได้ เรามีอะไรล่ะ บอกว่าเดี๋ยวขอเสาะหาก่อน
คราวนี้เขามีแต่ผ้านุ่งอยู่ผืนเดียว แขกเขาจะมีผ้านุ่งอยู่ผืนหนึ่ง แล้วผ้าห่มผืนหนึ่ง แต่มหาทุคตะจนมากมีผ้านุ่งผืนเดียวก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี เลยเข้าไปในป่า เอาใบไม้มาเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่มแทนแล้วเอาผ้าผืนนั้นไปที่ตลาด ไปถามกับพ่อค้าว่าผ้าผืนนี้สามารถแลกของอะไรได้บ้าง เขาถามว่าเธอจะเอาไปทำอะไรผ้าก็เก่าเต็มทีจะแลกของอะไรได้นักหนาเชียว
เขาก็บอกว่านายของเราจัดกฐินขึ้นมาเพื่อทอดถวายพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เราก็อยากทำบุญด้วย พ่อค้าบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ให้เข็มไปเล่มหนึ่งแล้วก็ด้ายไปกลุ่มหนึ่ง เพราะว่าผ้าเก่ามากแล้วมีค่าน้อยมาก ท่านก็เอาเข็มกับด้ายนั้นเข้าไปร่วมในกองกฐินแล้วตั้งใจอธิษฐานว่าขอให้ผลบุญที่ได้ทำบุญกฐินครั้งนี้ ขอให้ท่านบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณดังที่ปรารถนาด้วยเถิด เสร็จแล้วปรากฏว่าพอถึงชาติปัจจุบันนี้ ท่านบรรลุมรรคผลได้จริงๆ
หลวงพ่อท่านเคยเทศน์ถึงอานิสงส์กฐิน ท่านบอกว่าบุคคลที่ตั้งใจทำบุญกฐิน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าแม้แต่ทิพจักษุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งถือว่าเลิศแล้วที่สุด ยังมองไม่เห็นเลยว่าอานิสงส์นั้นจะไปสิ้นสุดตรงไหน ส่วนใหญ่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เกิดแล้วเกิดอีกอยู่ในระดับของความดีนี้ตลอดจนกระทั่งไม่สิ้นสุดของอานิสงส์กฐินก็จะเข้านิพพานเสียก่อน ฟังดูแล้วน่าทำไหม ร่วมกับเขาบ่อยๆ
สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
ที่มา : watthakhanun