โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 (Novel coronavirus)
สถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 ในต่างประเทศ ข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2555 พบผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 1 ราย โดยเป็นผู้ป่วยชายชาวกาตาร์ และผู้ป่วยชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการพบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสองราย และ ณ. วันที่ 25 กันยายน 2555 ไม่พบรายงานผู้ป่วยเพิ่มเติม
สำหรับประเทศไทย “ยังไม่พบ” การแพร่ระบาดของโรค
อย่างไรก็ตาม
1. ประเทศไทยได้มีการประสานความร่วมมือ และประเมินสถานการณ์ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา
2. เตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรค
ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronaviruses)
1. เชื้อก่อโรค :
เชื้อไวรัสโคโรน่า (CoVs) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ใน Family Coronaviridae มีรายงานการพบเชื้อมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1965 โดยสามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร ประกอบด้วยชนิดย่อยหลายชนิดและทำให้มีอาการแสดงในระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ (รวมถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส; SARS CoV) ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือระบบอื่นๆ
2. ระบาดวิทยาของเชื้อ :
เชื้อไวรัสโคโรน่า (CoVs) พบได้ทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่น (temperate climates) มักพบเชื้อโคโรนาไวรัสในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ การติดเชื้อโคโรนาไวรัสอาจทำให้เกิดอาการในระบทางเดินหายใจส่วนบนได้ถึงร้อยละ 35 และสัดส่วนของโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสอาจสูงถึงร้อยละ 15 อาจการติดเชื้อพบได้ในทุกลุ่มอายุ แต่พบมากในเด็ก อาจพบมีการติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการติดเชื้อ สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (SARS CoV) พบการระบาดปี พ.ศ. 2546 โดยพบเริ่มจากประเทศจีนแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกพบรายงานผู้ป่วยโรคซาร์สทั้งสิ้นมากกว่า 8, 000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 750 ราย
3. ลักษณะโรค :
- การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Coronaviruses) อาจทำให้เกิดอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ โดยในทารกที่มีอาการรุนแรง อาจมีลักษณะของปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด (Asthma) ส่วนในผู้ใหญ่ อาจพบลักษณะปอดอักเสบ (Pneumonia) หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้ และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้ในทุกอายุ และหากแสดงอาการมักพบร่วมกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น Rhinovirus, Adenovirus หรือเชื้ออื่นๆ
- การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome; SAR CoV) จะพบมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แล้วมีอาการไอ และ หอบเหนื่อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งอัตราตายจะสูงขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว
- การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Coronaviruses) มักพบบ่อยในเด็กแรกเกิด และทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรืออาจพบในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบเชื้อได้แม้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ และไม่มีฤดูกาลการเกิดโรคที่แน่นอน
4. ระยะฟักตัวของโรค :
โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน (อาจมีระยะฟักตัวนานถึง 3 – 4 วัน) สำหรับโรคซาร์สอาจใช้ระยะฟักตัว 4 – 7 วัน (อาจนานถึง 10 – 14 วัน)
5. วิธีการแพร่โรค :
แพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัส (Contact) กับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือแพร่กระจายเชื้อจากฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย (Droplet) จากผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยการ ไอ หรือจาม
6. การป้องกัน :
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
- ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลา ไอ หรือจาม
- ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
- ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค
ที่มา : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี อย่าลืม “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันนะคะ
ผู้รายงาน
นางสาวศศิธร รักฉาย ตำแหน่ง บรรณารักษ์
ที่ปรึกษา
นายอนันต์ ศรีวงษ์ชัย ตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอภักดีชุมพล