สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า “สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ (นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้) และ นางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๗ ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๓ ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ ๒๑ ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ ๓ พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า “พระยาตากสิน” สมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตามหนังสือราชการ) เป็นยอดวีรบุตรนักรบ ฝีหัตถ์เยี่ยม ทรหดอดทน กล้าหาญ ไม่กลัวตาย และเป็นผู้ดึงอิสระเสรีของชาติไทยมาจากเงื้อมมือของผู้ช่วงชิงไป
สมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากที่ได้กอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาก็ทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระราโชบายของพ่อขุนรามคำแหง คือ แบบพ่อปกครองลูก พระเจ้าตากสินทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ไม่ถือตัว ชอบปรากฎพระวรกายให้ประชาราษฎรเห็น และชอบถามสารทุกข์สุขดิบของประชาชนทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า
พระเดียวบุญลาภเลี้ยง ประชากร
เป็นบิตุรมาดร ทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอน สั่งโลก
เป็นสุขทุขถ้วนหน้า นิกรทั้งชายหญิง
ในสมัยของพระองค์นอกจากเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพไปราชการสงครามแล้ว ความเดือดร้อนอื่นๆ หามีไม่เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมยิ่งมีพระเมตตาจิตต่อพศกนิกรของพระองค์อย่างทั่วหน้า และ มีพระศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ศาสนาลัทธิอื่นเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในไทย คือ บาทหลวงฝรั่งเศส แต่ครั้นได้รับสิทธิให้ทำการเผยแพร่ศาสนาของตนแล้ว กลับยุยงให้คนไทยที่เข้ารีดให้ขัดขืนต่อราชการหลายหนเป็นการนำผลร้ายให้แก่ไทย จึงขอทรงให้บาทหลวงคณะนั้นออกไปพ้นพระราชอาณาเขต และทรงห้ามคนไทยมิให้ถือศาสนานั้นอีกเป็นอันขาดในยามรบทัพจับศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเหี้ยมหาญ อดทน สมเป็นชายชาตรีชาตินักรบฝีมือเยี่ยมจะเห็นได้ว่าในราชการสงครามแต่ละครั้งในสมรภูมิ นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พลมักถูกลงโทษด้วยทำการไม่ได้ดังพระทัยเสมอ เช่น เมื่อคราวเรียกกองทัพกลับแล้วให้เลยไปราชบุรี มีนายทัพคนหนึ่งขัดรับสั่งแวะบ้านเสียก่อน ถึงหัวขาด นี่แสดงถึงความพิโรธของพระองค์ แต่เมื่อถึงคราวเสียสละพระองค์ก็ยอมตัดสินพระทัยไม่อยู่ดูอาการสมเด็จพระชนนีทรงพระประชวรพระอาการน่าวิตก ทั้งๆ ที่ ” เมียร้อยคนหรือจะสู้พระแม่ได้ ” แต่ทรงเป็นห่วงราชการสงครามมากกว่าพระราชชนนี ทรงห่วงใยว่า ” ถ้ามิได้เสด็จไปบัญชาการ ก็คงจะเอาชนะพม่ามิได้ ” ในคราวรบพม่าที่บางแก้ว จังหวัดราชบุรี เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๑๗ แล้วทรงปรารภด้วยความน้อยพระทัยว่า ” ใช้พวกลูกๆ ไปทำสงครามครั้งใด ถ้าพ่อไม่เข้ากองทัพไปด้วย ไมเห็นรบชนะศึกสักราย “
ข้อนี้เป็นความจริง สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ไปทำสงครามตามลำพัง หลังจากเป็นแม่ทัพไปรบกับพม่าคราวอะแซหวุ่นกี้หัวเมืองฝ่ายเหนือ เมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๓๑๘ และสองท่านนี้เท่านั้น เป็นพระกรขวาซ้ายในราชการสงครามทุกครั้ง และทรงเป็นทหารเอกยอดนักรบคู่พระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช