วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทุกวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี
เดือนธันวาคม ปีพระพุทธศักราช 2531สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนด “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น โดยถือเอา วันที่ 17พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึง ความเหมาะสม และความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอความคิดว่าควรที่จะเป็น วันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งวันนั้นตรงกับวัน ศุกร์ที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2376 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีพระพุทธศักราช 2532 ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว
ดังนั้นวันที่ 17 มกราคม ปีพระพุทธศักราช 2533 จึงเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” วันสำคัญทางประวัติศาสตร์วันหนึ่งซึ่งถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
นับแต่นั้นมาจังหวัดสุโขทัย และทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดให้มี งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันที่ 17 มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีต่อประชาชนชาวไทย กิจกรรมหลักประกอบด้วย พิธีสักการะ บวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขบวนแห่ และพิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ โดยสถานที่จัดงานของจังหวัดสุโขทัย คือ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนสถานที่จัดงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ณ บริเวณลานพ่อขุน และหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือพ่อขุนรามราช ชื่อ“รามราช” พบในจารึกวัดศรีชุมว่า “ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปรา(ช)ญ์รู้ธรรม” รวมทั้งพบในจารึก และเอกสารอื่นๆอีกหลายแห่งว่า “พญารามราช” อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ อธิบายคำว่า “ราม” (จากชื่อพญารามราช) น่าจะมาจาก “อุตตโมราม” ซึ่งแปลว่า “พระรามผู้ยิ่งใหญ่” ที่ทรงเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าองค์ต่อไปจากพระเมตไตรย ดังที่กล่าวถึงใน “โสตตัตถกีมหานิทาน” เพราะในช่วงเวลานั้นต่างให้ความสำคัญแก่พระอนาคตพุทธเจ้าโดยเฉพาะ (เอกสารวิจัยเรื่อง “การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ : จารึกพ่อขุนรามคำแหง” : ๒๕๓๑)แต่ชื่อ “รามคำแหง” พบเพียงครั้งเดียวในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และไม่พบในที่อื่นๆอีกเลยทุกวันนี้ชื่อ “รามคำแหง” เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกว่า “รามราช” จึงขอเรียกตามความนิยมว่า “พ่อขุนรามคำแหง”
ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพจากเมืองสุโขทัยไปป้องกันเมืองตาก โดยมีพระรามราชโอรสซึ่งมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษาไปด้วย การรบของทั้งสองฝ่ายได้ทำยุทธหัตถี (การรบบนหลังช้าง) ในตอนแรกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ ช้างที่ประทับของพระองค์สู้กำลังข้าศึกไม่ได้ พระรามได้รีบไสช้างเข้าไปช่วย และสู้รบกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะ ความกล้าหาญของพระรามใน ครั้งนี้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้เป็น “รามคำแหง” ซึ่งหมายถึง รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ หลังจากศึกครั้งนี้เข้าใจว่าฐานะทางการเมืองของสุโขทัยมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น และคงมีการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตสุโขทัยให้กว้างขวางออก
ภายหลังที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์พ่อขุนบานเมืองราชโอรสองค์ใหญ่ ได้ขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัยสืบต่อมา ในสมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับเมืองต่างๆเช่นเดียวกับสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยมีพระอนุชาคือพ่อขุนรามคำแหงเป็นแม่ทัพ ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้าง ได้งวง ได้ปั่ว ได้นาง ได้เงือน ได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตายยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู ดังบำเรอแก่พ่อกู” เมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา การที่พระองค์เป็นกษัตริย์นักรบ และนักปกครองที่มีความสามารถ อาณาเขตในสมัยของพระองค์จึงได้แผ่ขยายกว้างไกล จนได้รับการเทิดพระเกียรติด้วยพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
ในภายหลัง ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวถึงเขตแดนสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไว้ว่า “ทางทิศเหนือ มีเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว ถึงเมืองหลวงพระบาง ทิศตะวันออกมี เมืองสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา ถึงเมืองเวียงจันทร์ ทางทิศตะวันตกมีเมืองฉอด เมืองหงสาวดี จนสุดชายฝั่งทะเล ทางทิศใต้มี เมืองคณฑี เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช จนสุดชายฝั่งทะเล” จะเห็นว่าในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯนี้ อาณาจักรสุโขทัยได้ครอบครองเมืองในลุ่มแม่น้ำ ปิง ยม น่าน และป่าสักได้ทั้งหมด อันเป็นการรวบรวมเมืองบ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งเคยอยู่ใต้ครอบครองของราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมให้เป็นแว่นแคว้นเดียวกัน และขยายอาณาเขตไปยังดินแดนห่างไกลออกไป
จากเอกสารของจีน ได้กล่าวถึงการขยายอาณาเขตของพ่อขุนรามคำแหงฯไปยังดินแดนทางใต้ว่า ในปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ตีได้เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองในแหลมมลายู ตลอดจนยะโฮร์ และต่อมาตีได้กัมพูชา และจากพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือมะกะโท ผู้เป็นราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งต่อมาได้ครองเมืองมอญ แสดงถึงการขยายอาณาเขตของพระองค์ไปทางตะวันตก ได้หัวเมืองมอญด้วยสันติวิธี อาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของการยอมรับอำนาจและความเข้มแข็งของศูนย์กลางอำนาจทีเมืองสุโขทัยอันเป็นผลจากการสะสมกำลังคนที่ได้จากการทำสงครามแล้วกวาดต้อนผู้คน และแรงงานจากเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงฯ นอกจากนั้นเนื่องจากพระองค์มีสัมพันธไมตรี
กับเมืองใหญ่ๆใกล้เคียงได้แก่ พ่อขุนเม็งราย(มังราย)แห่งอาณาจักรล้านนา และพระยางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ซึ่งได้ทำข้อตกลงที่จะช่วยเหลือกันและกันเมื่อถูกรุกรานจากอาณาจักรอื่น ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นช่วงสมัยที่สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ซึ่งนอกจากการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตแล้ว ความรุ่งเรืองของสุโขทัยอาจเนื่องมาจากการที่สุโขทัยตั้งอยู่ในเส้นทางทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ และเมื่อการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น สุโขทัยซึ่งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆได้โดยรอบ
โดยมีเส้นทางการเดินทางไปทางเหนือถึงลุ่มแม่น้ำโขง ทางตะวันตกมีเส้นทางติดต่อกับเมืองพุกามและหัวเมืองมอญ ซึ่งสามารถออกทะเลเบงกอลติดต่อกับลังกา และอินเดียใต้ ส่วนทางใต้มีเส้นทางเดินทางผ่านลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านนครศรีธรรมราชออกสู่ทะเล สันนิษฐานว่าสุโขทัยอาจเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแบบกองคาราวาน และสุโขทัยเองอาจจะค้าของป่า และแร่ธาตุสำคัญ นอกจากนั้นสุโขทัยยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า โดยอนุญาตให้พ่อค้าเอาลินค้าไปค้าขายแลกเปลี่ยนได้โดยไม่เก็บภาษีผ่านด่าน เป็นการส่งเสริมให้มีคนมาค้าขายที่สุโขทัยเพิ่มขึ้น ดังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจะใคร่ค้าม้าค้า ใครจะใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า” จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนจากที่ต่างๆโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทั้งมากาว ลาวแลไทย เมืองใต้หล้าฟ้า ฏ…ไทยชาวอู ชาวของ มาออก”
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต (สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ. ๑๘๔๒) พระยาเลอไทยพระราชโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติ พระยาเลอไทยทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง แผ่ขยายออกไปจากเดิมมากขึ้น การศึกษาพระธรรม และภาษาบาลีได้เริ่มขึ้น และเจริญก้าวหน้า พระองค์ทรงฝักใฝ่ในทางธรรมมาก และทรงมีความรู้ทางปรัชญาอย่างสูง ลูกเจ้าลูกขุนจึงถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระองค์ครองราชย์นาน ๔๐ ปี เมื่อสิ้นรัชกาล พระยางัวนำถมได้ครองราชย์สืบต่อมา
เมื่อพระยางั่วนำถมทรงทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ได้ทรงแต่งตั้งพระยาลิไทย (พระราชโอรสของพระยาเลอไทย) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ไปปกครองเมืองศรีสัชนาลัย อันเป็นเมืองที่ถือว่ารัชทายาทแห่งราชบัลลังก์จะพึงครอบครองก่อนที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลนี้ได้มีการปราบปรามเมืองต่างๆที่แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชกาลพระยาเลอไทย แต่ไม่สำเร็จ ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขความเสื่อมโทรม และความแตกแยกภายใน ตอนปลายรัชกาลพระยางัวนำถมสวรรคตลงโดยกระทันหันในปี พ.ศ. ๑๘๙๐ ทำให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงสุโขทัย พระยาลิไทยองค์รัชทายาทจึงยกกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้าเมืองสุโขทัย แล้วจับศัตรูที่คบคิดชิงราชสมบัติประหารชีวิตเสียทั้งหมด แล้วเสด็จขึ้นครองเมืองสุโขทัยในปีนั้น
เข้าชม : 22445
|