ประวัติความเป็นมา
ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า
1. บริบทห้องสมุดประชาชน
1.1 ด้านที่ตั้ง
ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ที่บริเวณริมสระหนองบัวหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ห้องสมุดประชาชนบ้านเขว้า เริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนในอำเภอบ้านเขว้า เมื่อปี พุทธศักราช 2526 โดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยภูมิ รับผิดชอบดำเนินการ แต่เนื่องจากยังไม่มีสถานที่สำหรับก่อสร้างอาคาร จึงอาศัยสถานที่ของสำนักงานศึกษาธิการอำเภอบ้านเขว้า เป็นที่ให้บริการ
เมื่อปี พุทธศักราช 2529 ได้รับงบประมาณสำหรับเช่าอาคารจึงได้ทำการเช่าอาคารบริเวณหน้าตลาดในอำเภอบ้านเขว้า เป็นที่ดำเนินการ และต่อมาเปลี่ยนอาคารมาเช่าบริเวณหน้าอำเภอบ้านเขว้า
ปีพุทธศักราช 2538 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยภูมิ ได้รับงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารห้องสมุดประชาชน จากกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) และได้ทำการก่อสร้างเสร็จเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2538 จึงได้ย้ายจากอาคารชั่วคราว (บ้านเช่า) มาเปิดให้บริการแก่ประชาชนในอำเภอบ้านเขว้า จนถึงปัจจุบัน
1.2 ด้านการจัดบรรยากาศภายใน
เนื่องจากตัวอาคารเป็นสีขาวและติดประจกใสโดยรอบ ทำให้มีความสะอาด สว่างและโปร่งตา ในด้านการจัดพื้นที่ใช้สอย มีการจัดแยกส่วนการบริการ จัดมุมให้บริการ และส่วนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ในส่วนพื้นที่ให้บริการใช้ม่านสีขาว มีการใช้ต้นไม้ รูปภาพ แจกันดอกไม้ ตกแต่งตามจุดต่าง ๆ นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าของอาคารยังได้มีการจัดสวนหย่อมเพื่อสร้างบรรยากาศในลักษณะ "หน้าบ้านน่ามอง" อีกด้วย
1.3 ด้านครุภัณฑ์
ห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า มีครุภัณฑ์สำหรับการบริการและการปฏิบัติงาน อาจจำแนกเป็นประเภทได้ดังนี้
1) ประเภทเครื่องไม้ มักใช้ในส่วนพื้นที่การบริการส่วนมาก ได้แก่ โต๊ะอ่านหนังสือ ตู้หนังสือ หรือชั้นวางหนังสือ
2) ประเภทเครื่องเหล็ก ส่วนมากใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ตู้เหล็กทั้งแบบทึบ และแบบโปร่ง ซึ่งมีบานกระจกเปิดปิดด้านหน้า ชั้นวางหนังสือ
3) ประเภทเครื่องหนัง หรือพลาสติก ได้แก่ เก้าอี้นั่งอ่านหนังสือสำหรับผู้ใช้บริการ
4) ประเภทเครื่องไฟฟ้า ได้แก่ พัดลม อุปกรณ์โสตทัศนวัสดุ เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีทัศน์ เครื่องเล่นเทป เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพ เป็นต้น
5) ประเภทเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ้นเตอร์ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม เป็นต้น
6) ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ประกอบด้วย
(1) หนังสือ 9,292 เล่ม
(2) วารสารภาษาไทย 8 ชื่อเรื่อง
(3) หนังสือพิมพ์ภาษาไทย 2 ชื่อเรื่อง
(4) โสตทัศนวัสดุ
(4.1) เทปเสียง 156 ม้วน
(4.2) เทปภาพ (วีดิทัศน์) 124 ม้วน
(4.3) ซีดีรอม 89 แผ่น
(4.4) วีซีดี/ดีวีดี 91 แผ่น
7) ทรัพยากรสารสนเทศประเภทอื่น ๆ ได้แก่ จุลสาร (25 ฉบับ) หนังสือพิมพ์ล่วงเวลา (198 ฉบับ) ลูกโลก แผนที่ องค์ความรู้ แหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาต่าง ๆ เป็นต้น
1.4 ด้านบุคลากร
1) จำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า ดังนี้
(1) บรรณารักษ์ 1 คน
(2) ลูกจ้างประจำ 1 คน
1.5 การแบ่งส่วนราชการและการบริหารงานของห้องสมุดประชาชนอำเภอบ้านเขว้า ออกเป็น 3 งาน ดังนี้
1) งานบริหาร ได้แก่ การดำเนินงานเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย การวางแผน การจัดทำโครงการ ปฏิทินการปฏิบัติงาน การประเมินผลงาน งานบุคลากร งานอาคารสถานที่ งานสารบรรณ งานงบประมาณ งานการเงินและบัญชี งานพัสดุ งานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ และประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ
2) งานเทคนิค แบ่งออกเป็น 3 งาน ได้แก่
2.1) งานจัดหา ได้แก่ การดำเนินการคัดเลือกและจัดหาทรัพยากรสารนิเทศทั้งวัสดุตีพิมพ์ วัสดุไม่ตีพิมพ์ เข้าห้องสมุด ด้วยวิธีการสั่งซื้อ ขอรับบริจาค แลกเปลี่ยน และผลิตขึ้นเอง
2.2) งานจัดเตรียมวัสดุสารนิเทศ ได้แก่ การลงทะเบียนทรัพยากรสารนิเทศทั้งวัสดุตีพิมพ์ และวัสดุไม่ตีพิมพ์ ดำเนินการเตรียมสิ่งพิมพ์ วิเคราะห์หมวดหมู่หนังสือ ลงทะเบียนด้วยโปรแกรม PLS
2.3) งานบำรุงรักษาทรัพยากรสารนิเทศ ได้แก่ การสำรวจ ซ่อมแซมบำรุงรักษาหนังสือ เย็บเล่ม เขียนสันหนังสือ และเข้าปกหนังสือ
3) งานบริการสารนิเทศ แบ่งออกเป็น 2 งาน ได้แก่
3.1) งานบริการสิ่งพิมพ์ ให้บริการยืม - คืนหนังสือ ทำบัตรสมาชิกห้องสมุด จัดหนังสือเข้าชั้น ทวงหนังสือเกินกำหนด รับแจ้งหนังสือหาย และบัตรสมาชิกห้องสมุดหาย รับฝากของตรวจทางเข้า - ออก
3.2) งานส่งเสริมการใช้บริการ ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยค้นคว้าข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการ บริการสืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ จัดบริการสอนการใช้ห้องสมุด นำชมห้องสมุด บริการหนังสืออ้างอิง บริการสื่อการเรียนการสอน บริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(ไทยคม) บริการห้องโสตทัศน์และสื่อโสตทัศนวัสดุ นอกจากนี้ยังจัดบริการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้โสตทัศนูปกรณ์และโสตทัศนวัสดุ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
เข้าชม : 2769 |