เมื่อวันที่ 9 ม.ค. คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ (สวพ.) สถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และมูลนิธิเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จัดบรรยายสาธารณะ เรื่อง พัฒนาการของการทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน : เหลียวหลังแลหน้า "โดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ และประธานคณะอนุกรรมการการนำผลประเมินไปใช้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การทดสอบระดับชาติ และการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้ทราบถึงคุณภาพของโรงเรียน และชี้ให้เกิดการพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันปัญหาหลักของการประกันคุณภาพ คือ การไม่นำผลประเมินไปใช้ โดยเฉพาะโรงเรียนและต้นสังกัดไม่สามารถพัฒนาคุณภาพได้ตามลำพัง เพราะหลายปัญหาเป็นปัญหาระดับนโยบาย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วย เช่น โรงเรียนใดมีปัญหาครูไม่พอ ก็ต้องเพิ่มครู เป็นต้น ซึ่งตนอยากเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อพัฒนาระบบผลการประเมินการศึกษาที่ได้จาก สทศ.และสมศ. เพื่อบอกภาพรวมระดับคุณภาพของผลการศึกษาไทย ควบคู่กับการใช้ผลประเมินผลการศึกษาของนานาชาติ
"ในต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ผลการประเมินและผลการศึกษาในประเทศของตัวเอง นอกจากนั้นยังทำความร่วมมือในการประเมินผลร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ แต่ประเทศไทยใช้ผลประเมินจากนานาชาติเท่านั้น ซึ่งผลประเมินการศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก็ชี้ว่าประเทศไทยอยู่ในระดับท้าย ๆ ของโลก และแพ้เกือบทุกประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตามถ้าทำให้ระบบประกันคุณภาพมาใช้ให้เกิดผลจริง เชื่อว่าความหวังในการพัฒนาการศึกษาไทยจะดีขึ้น" ศ.ดร.วิจิตร กล่าว
นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการบริหาร สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาโดยนานาชาติ ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาไทยมีคุณภาพลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ระบบการประเมินคุณภาพและวัดผลการศึกษาของไทย ซึ่งดำเนินการโดย สมศ. และ สทศ. ไม่มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาคุณภาพจะอยู่ที่ตัวเด็ก ดังนั้นตนเสนอให้ สมศ. และ สทศ. กำหนดกรอบเวลาในการทำงานของหน่วยงาน และวางระบบการประเมินคุณภาพให้เกิดขึ้นที่โรงเรียน จากนั้นให้ปิดตัวลงเพราะประเมินแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น
"สมศ. ควรตั้งเป้าหมายว่า อีกกี่ปีจะปิดตัวเอง ไม่ใช่ว่าจะอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย เพราะที่จริงการประเมินผลอยู่ที่ตัวเด็ก ดังนั้น ระบบประเมินที่แท้จริงจะต้องให้ครู นักเรียน และโรงเรียนทำ โดยใช้มาตรฐานของนานาชาติที่เหมาะสมกับแต่ละสถานศึกษาเป็นเกณฑ์ ส่วน สทศ.ก็เช่นกัน เพราะเรื่องการสอบประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนอยู่แล้ว" นายชัยณรงค์ กล่าว.
เข้าชม : 21847
|