การพัฒนาระบบภาคีเครือข่าย
ภาคีเครือข่าย หมายถึง กลุ่���บุคคล องค์กรที่มีเป้าหมายร่วมกัน มารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ เพื่อทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย (ร่วมคิด / วางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมินผล) โดยมีความสัมพันธ์แนวราบ มีความเสมอภาค และเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา โดยเน้นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับต่างๆ ตามแนวคิดพื้นฐานการพัฒนาแบบเครือข่ายมีส่วนร่วมจึงได้มีนโยบายจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายซึ่งประกอบด้วย
- กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาปฐมวัย
- กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพ การประถมศึกษาและศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้
- กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพ การมัธยมศึกษาตอนต้นและศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้
- กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพ การมัธยมศึกษาตอนปลายและศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้
ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย
- มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน
- มีระบบบริหารจัดการที่ดี
- มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
- มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
- มีการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง
- มีนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานเครือข่าย
- มีการสรุปบทเรียนร่วมกัน(เพื่อจัดทำแผนปีต่อไป)
นอกจากนี้ในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นในลักษณะของเครือข่ายย่อมขึ้นอยู่กับระดับของความร่วมมือคือ
1. การประสานงาน (Coordination) หมายถึง วิธีซึ่งคนจำนวนมาก มาร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยกำหนดกิจกรรมต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบปฏิบัติด้วยความสามัคคี สมานฉันท์ และมีประสิทธิภาพที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า การประสานงาน หมายถึง การจัดระเบียบวิธีการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ร่วมมือปฏิบัติงานเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อให้งานหรือกิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กรนั้นอย่างสมานฉันท์และ
2. ความร่วมมือ (Cooperatoin) หมายถึง ความเต็มใจของแต่ละคนในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ตามเป้าหมายขององค์การหรือหน่วยงานความร่วมมือ จะเป็นการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น “เจ้าของหรือเจ้าภาพ” งานหรือกิจกรรมนั้นๆ แล้วขอให้ฝ่ายอื่นเข้ามาร่วม มีลักษณะเกิดขึ้นเป็นครั้งๆไป ไม่มุ่งความต่อเนื่องและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่มุ่งจะให้กิจกรรมนั้นๆ แล้วเสร็จตามความต้องการของฝ่ายเจ้าของงาน ความร่วมมือเป็นการช่วยเหลือด้วยความสมัครใจ แม้จะไม่มีหน้าที่โดยตรง อาจจะทำเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกันหรือต่างเวลาก็ได้ แม้กระทั่งอาจให้ความร่วมมือทำบางเรื่องบางเวลา
3. การทำงานร่วมกัน (Collaboration) หมายถึง การที่บุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือองค์กรตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป มาทำงานร่วมกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม และรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตามโครงสร้างที่มีอยู่ในองค์กร รวมทั้งเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ปฏิบัติงาน ต่างก็เกิดความพอใจในการทำงานนั้น
4. การมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การที่สมาชิก ทุกคนของหน่วยงานหรือองค์กร ร่วมกันดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีลักษณะของกระบวนการ (Process) มีขั้นตอนที่มุ่งหมายจะให้เกิดการเรียนรู้(Learning) อย่างต่อเนื่อง มีพลวัต(Dynamic) กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการแก้ปัญหา การร่วมกันกำหนดแผนงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมดำเนินการ การมีส่วนร่วมก่อให้เกิดผลดีต่อการขับเคลื่อนองค์กรหรือเครือข่าย ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมย่อมเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และที่สำคัญผู้ที่มีส่วนร่วมจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเครือข่าย ความรู้สึกเป็นเจ้าของจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนเครือข่ายที่ดีที่สุด
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย จีรวิทย์ มั่นคงวัฒนะ
เข้าชม : 32134
|