[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน
การปลูกมะนาวนอกฤดู

อังคาร ที่ 16 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554


การปลูกมะนาวนอกฤดู

 บทนำ     มะนาวเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย เป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันดีสามารถปลูกกันได้ทั่วทุกภาคของประเทศ  และสามารถให้ผลตลอดทั้งปีแต่ก็มีปัญหาเนื่องจากพอหน้าแล้งมะนาวก็ขาดแคลน ทำให้มีราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว แต่พอหน้าฝนผลผลิตมะนาวออกสู่ตลาดมากจนล้นตลาด ราคามะนาวก็จะตกต่ำ จากปัญหามะนาวขาดตลาด  และแต่พอฤดูฝนก็ล้นตลาด  ทำให้ราคามะนาวตกต่ำ ชาวสวนก็ปล่อยทิ้งให้หล่น  ทั้งที่มะนาวติดผลดก พื้นที่ปลูกมะนาวเพิ่มขึ้น แต่คนกินกับเท่าเดิม ชาวสวนมะนาวจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก บางรายต้องปล่อยให้ลูกมะนาวหล่นเกลื่อนพื้น จะเก็บขายตามยอดสั่งซื้อเท่านั้น เพราะถ้าเก็บเกินไปจากนั้นก็ไม่มีใครมารับซื้อ  สาเหตุที่ทำให้มะนาวมีราคาถูก เนื่องมาจากเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำไร่ทำนา มาทำสวนมะนาวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตมะนาวล้นตลาด ประกอบกับฤดูกาลก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มะนาวติดลูกดก ทำให้มีผลผลิตมากขึ้นแต่ผู้บริโภคเท่าเดิม ที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้ง มะนาวจะมีราคาแพงมาก  แต่พอช่วงหน้าฝนราคากับตกต่ำ  ทำให้พ่อค้าคนกลางมีแหล่งรับซื้อมะนาวมากขึ้น จึงเป็นทางเลือกให้กับพ่อค้าคนกลางในการเลือกซื้อผลผลิตมะนาวที่มีราคาถูก ต่างกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีราคาที่สูงขึ้น ส่วนทางกับราคามะนาว ในขณะที่ชาวสวนมะนาวคงขาดทุน เพราะปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และสารเร่งฮอร์โมนต่างๆ ราคาน้ำมันเครื่องสูบน้ำเข้าชาวมะนาว  และราคาน้ำมันรถยนต์ในการขนส่งมีราคาแพง ส่งเหล่านี้คือซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตของชาวสวน ทำให้ต้นทุนในการผลิตของชาวสวนสูงตามไปด้วย 

เทคนิคการปลูกมะนาวนอกฤดู สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากในช่วงเริ่มแรก ส่วนค่าใช้จ่ายหลักจะอยู่ที่วงบ่อซีเมนต์และฝารองซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายกิ่งพันธุ์มะนาว ระบบน้ำ ฯลฯ ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ต้นมะนาวในวงบ่อเมื่อมีอายุต้นเพียง 8 เดือน จะบังคับให้ต้นออกฤดูแล้งได้โดยใช้หลักการเดียวกับการปลูกลงดินคือคลุมพลาสติกให้กับต้นมะนาวในช่วงเดือนกันยายนและกระตุ้นการออกดอกในเดือนตุลาคม จะได้ผลผลิตมะนาวแก่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวราคาแพงที่สุด เท่ากับว่าในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูแล้ง  ส่วนรายละเอียดของการเริ่มต้นการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะต้องวัดพื้นที่ กว้างxยาว ก่อน เพื่อจะหาพื้นที่ หลังจากนั้น เว้นทางเดินประมาณ 2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นเป็นทางเดิน 2 เมตร สภาพพื้นที่ปลูกจะต้องปรับให้เรียบ วัดระยะการวางวงบ่อ การวางวงบ่อซีเมนต์พยายามวางให้เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำ แท็งก์จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกจะก่อให้สูง ประมาณ 5 วงบ่อ หรือมีความจุน้ำได้ 1,200 ลิตรจะใช้แท็งก์นี้เพื่อผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพแล้วเปิดน้ำดีเข้าไปผสมปล่อยไปให้ต้นมะนาวในวงบ่อได้โดยตรง ส่วนแท็งก์อีกชุดหนึ่งจะก่อให้สูงประมาณ 9 วงบ่อ จำนวน 2 แท็งก์ เพื่อกักเก็บน้ำสะอาดแล้วช่วยในเรื่องของแรงดัน

การเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์  ขนาดของวงบ่อซีเมนต์แนะนำให้เกษตรกรใช้ จะใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร แนะนำให้ใช้ฝาวงบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของวงบ่อ ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 90 เซนติเมตร กว้างกว่า 10 เซนติเมตรดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุประกอยด้วย มูลสัตว์(ขี้วัว) 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ เทคนิคในการผสมวัสดุปลูกจะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด  ในการใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์จะต้องใส่ให้พูน และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลาง การใส่วัสดุปลูกให้ใส่ให้พูนจะช่วยให้ดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้พอดี

วิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้ขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว โดยปกติถ้าใช้กิ่งมะนาวตอน ควรจะชำต้นมะนาวไว้นานประมาณ 1 เดือน เท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อต้นมะนาวที่ชำมานานแล้วหลายเดือน หรือชำค้างปี จะมีปัญหาเรื่องรากขด ทำให้เจริญเติบโตช้า รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือน ต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ที่หลายคนได้ใช้ปอฟางหรือพลาสติกทาบกิ่งมัดกับหลักจะอยู่ได้นานก็จริง แต่ปัญหาที่จะตามมาจะทำให้ลำต้นมะนาวคอด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน เกษตรกรสามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกแนะนำให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้

วิธีการรดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ทำอย่างไร ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ให้ใช้พลาสติกคลุมปากบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกๆ แต่พบปัญหาว่าเมื่อเกษตรกรนำพลาสติกไปคลุมกลับรักษาความชื้นให้กับต้นมะนาวใช้เวลานานวันกว่าดินจะแห้ง หรือเลือกใช้หลักการ "ฝนทิ้งช่วง" ในแต่ละปีช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จะมีช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกัน 3-4 วัน ดินในวงบ่อจะเริ่มแห้ง ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลได้

ผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ 2 รุ่น ต่อปี ในช่วงเริ่มแรกของการบังคับมะนาวฤดูแล้งจะทำให้ต้นมะนาวออกดอกเพียงรุ่นเดียวคือ ช่วงเดือนตุลาคมและไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น ทำให้จะต้องคอยปลิดดอกมะนาวทิ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาสภาวะตลาดมะนาวผลผลิตจะเริ่มมีราคาดีตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จึงปล่อยให้มะนาวให้ผลผลิต 2 รุ่น คือมีผลผลิตขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รุ่นหนึ่ง (บังคับให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกรุ่นหนึ่ง (บังคับให้ออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปีราคามะนาวจะถูกลง จะตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมด

ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก จะมาตัดแต่งหนักเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงนั้นมักจะพบว่าต้นมะนาวเริ่มโทรม มีกิ่งแห้งเป็นจำนวนมาก การตัดแต่งกิ่งมีผลทำให้ต้นมะนาวแตกกิ่งออกมาใหม่และได้ผลผลิตมะนาวที่มีคุณภาพ หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนพฤษภาคม ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงบำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม

เทคนิคการเปิดตาดอก เมื่อใบมะนาวเหี่ยวและเริ่มร่วงหรือเหลือใบยอดเพียง 1 คืบ จะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวกลางสูง เช่น สูตร 15-30-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 1 กำมือ ใส่ให้กับต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ รดน้ำจนเห็นว่าปุ๋ยละลายจนหมด (ช่วงการให้ปุ๋ยนี้ไม่แนะนำให้เปิดน้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์ ควรจะให้น้ำด้วยสายยางจะดีกว่า) และยังได้แนะนำก่อนว่า ก่อนที่จะให้ปุ๋ยควรเปิดน้ำให้กับต้นมะนาวจนดินชุ่มเสียก่อน จะรดน้ำด้วยสายยาง 2-3 ครั้ง ทุกๆ 3-5 วันสำหรับการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือธาตุอาหารทางใบควรฉีดพ่นอย่างเต็มที่ ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ อัตรา 20 ซีซี ผสมกับสารเทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี และปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นต่อเนื่องทุก 5-7 วัน หลังจากนั้นต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกและติดผลไปแก่ในช่วงฤดูแล้ง

การทำมะนาวนอกฤดู การบังคับมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์
1. แปลงนี้ปลูก มะนาวพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้น อายุประมาณ 4 ปี ทั้งหมด 600 วงในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ
2. การให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้า - เย็น
3. มะนาวจะราคาแพงที่สุดคือช่วงเดือน มีนาคม เมษายน ของทุกปี ดังนั้นเมื่อเก็บผลผลิตหมดในเดือน
พฤษภาคม ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- ตัดแต่งกิ่ง เด็ดผลที่เหลือบนต้นออก เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่โดย ผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง คุณพิชัยให้เหตุผลว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา
ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มาก
- เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลง เพิ่มกาบมะพร้าวบริเวณโคนต้น เนื่องจากาบ
มะพร้าวผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา กาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาความชื้นได้อย่างดี และยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บ
รักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอัน
เกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย
- การให้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้จากการหมักหอยเชอรี่30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. เชื้อพด.
2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้ ในส่วนของ
การให้ทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยใน
การให้จะให้ครั้งละ 3 – 5 นาทีเพื่อให้กาบมะพร้าวบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม รอบปกติ น้ำจะ
ค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวใช้ เป็นการจัดการที่ประหยัดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- ในระยะนี้ต้องรักษาใบและยอดให้ดี เนื่องจากมีโรค แมลงที่สำคัญเข้าทำลายในระยะยอดอ่อนถึงเพสลาดคือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ในเรื่องสารเคมีคุณพิชัยให้แนวคิดว่าบางระยะยังต้องมีการใช้อยู่ แต่ต้องเลือกใช้ในระยะที่
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เนื่องจากแปลงเรียนรู้นี้ปลูกทั้งพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้นคละกันไป พันธุ์แป้นอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก
- หลักการใช้สารเคมีในแปลงมะนาว นอกจากเพลี้ยไฟ โรคแคงเกอร์แล้วยังมีโรคและศัตรูอื่น ๆ อีก เช่น หนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบ แมลงค่อม โรคยางไหล โรคราเข้าขั้ว การเลือกใช้ชนิดของ
สารเคมีและระยะที่ใช้จึงมีความจำเป็น หากอยู่ในระยะที่ใช้สารเคมีได้ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบมีสารเคมีที่ คุณพิชัยเลือกใช้ในการป้องกันกำจัดคือ อะบาแม็กติน อัตรา 3 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ( ทั้งนี้อัตราการใช้แล้วแต่ความเข้มข้นของแต่ละบริษัทที่ผลิต ) หากพบการระบาดมากจะใช้สาร อิมิดาคลอพริด อัตรา 3 – 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร แมลงค่อมหรือด้วงปีกแข็งใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน อัตรา 5 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โรคราเข้าขั้วใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ อัตรา 20 – 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบ็นดาซิม อัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการฉีดพ่น ทุก 7 - 15 วัน หรือแล้วแต่สภาพการระบาดของโรคแมลง นอกเหนือจาก
ระยะนี้แล้ว 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว คุณพิชัยเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพที่มีฤทธิ์ไล่ และกำจัดแมลง โดยใช้น้ำหมักที่หมักจาก
สมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บอระเพ็ด สะเดา ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. พด. 7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20
ลิตรทุก 7 - 15 วัน
- เนื่องจากมะนาว มีอายุ ประมาณ 5 เดือนสามารถเก็บขายได้ในเดือนที่ 6 การวางแผนการบังคับให้ออกนอกฤดู คือต้องทำให้ออกดอก เดือนตุลาคม เดือนกันยายนต้องงดปุ๋ย งดน้ำ จากประสบการณ์ของคุณพิชัยจะเลือกใช้จังหวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 – 15 วัน เป็นการงดน้ำไปในตัว เนื่องจากมะนาวแปลงนี้ 600 วง คุณพิชัยจัดการเพียง
คนเดียวจึงไม่สะดวกที่จะเลือกใช้พลาสติกคลุม เพราะพลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ลดความชื้น
ในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ
- งดน้ำจนใบเหี่ยว สลด และหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงเช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
- หลังติดดอกแล้วให้น้ำตามปกติเช้า เย็น เวลาละ 5-10 นาที
- ปุ๋ยทางดินที่คุณพิชัยใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ตลอดฤดูการผลิตคือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากเศษพืช มูลสัตว์ กากหอยเชอรี่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดภาวะดินเสื่อมโทรม ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ อย่างยั่งยืน

 

 

  

เข้าชม : 8699


เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน 5 อันดับล่าสุด

      มอบป้ายศูนย์การเรียนชุมชน 22 / เม.ย. / 2559
      การปลูกมะนาวนอกฤดู 16 / ส.ค. / 2554


 

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบำเหน็จณรงค์
ตำบลบ้านชวน  อำเภอบำเหน็จณรงค์  จังหวัดชัยภูมิ  ๓๖๑๖๐
    โทรศัพท์  ๐-๔๔๑๒-๗๑๑๔  โทรสาร  ๐-๔๔๘๔-๒๙๘๗  
  ผู้รับผิดชอบ  นายอนุรักษ์  แดดจันทึก

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05