ทั้งสองประการต้องมีความสอดคล้องกัน จะให้เพียงสถาบันใดสถาบันหนึ่งเดินไปข้างหน้าเพื่อความเป็นเลิศฝ่ายเดียวไม่ได้
ในส่วนของสถาบันผลิตครูที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งของรัฐและของเอกชน ไม่ว่า จะเป็นคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา มีหน้าที่ผลิตครูโดยตรง โดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง
ทุกคนทราบดีแล้วว่า รากฐานของ "ราชภัฏ"คือโรงเรียนฝึกหัดครูที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นวิทยาลัยครู เป็นสถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในที่สุด
โรงเรียนฝึกหัดครู หรือวิทยาลัยครู แต่เดิมเปลี่ยนชื่อมาเป็นคณะครุศาสตร์
บางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ถ้าจำไม่ผิด) ยังคงชื่อวิทยาลัยครูไว้เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ
อันที่จริง หากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งจะปรับเปลี่ยนให้คณะครุศาสตร์กลับไปเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู" หรือ "วิทยาลัยครู" ซึ่งมีสถานภาพเทียบเท่าคณะ ก็น่าจะทำให้ความเป็นสถาบันผลิตครูชัดเจนขึ้น และตรงที่สุด
กระนั้น หากทั้งสองประการที่ศาสตรา จารย์กิตติคุณดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภาตั้งความหวังไว้ที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างคุรุสภากับสถาบันผลิตครูเพื่อให้การผลิตครูมีจำนวนที่เหมาะสม เน้นคุณภาพ โดยให้มีปริมาณครูสอดคล้องกับความต้องการใช้ครู คุรุสภาควรเป็นผู้กำหนด
ด้วยการนำเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทราบความต้องการกำลังครูในแต่ละปี และในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนผู้เกษียณ ผู้ที่ต้องการออกก่อนกำหนด รวมไปถึงครูโรงเรียนเอกชน และครูวิชาพิเศษเท่าใด
เช่นเดียวกับในขณะนี้ ตัวเลขครูจะเกษียณในอีก 5 ปีข้างหน้ามีจำนวนนับแสนคน สถาบันผลิตทุกแห่งทั่วประเทศต้องมีการวางแผนรับสมัครผู้ที่จะเข้าเรียนวิชาครูปีละเท่าไหร่
ทั้งการรับสมัครผู้ที่จะเข้าเรียนครูต้องมีหลักการและวิธีการที่เหมาะสม เช่นการวัดหรือทดสอบแววครู มีการรับสมัครล่วงหน้า มีการให้ทุนการศึกษาจากหน่วยงานอื่นที่ต้องการครู รวมไปถึงความต้องการรับสมัครครูในส่วนใดบ้าง เช่นปฐมวัยศึกษา ประถมศึกษา มัธยม ครูในแต่ละสาขาย่อมมีไม่เท่ากัน รวมถึงความชำนาญในการผลิตครูในสาขาวิชานั้นๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งในอนาคตไม่ปีนี้ก็ปีหน้าจะเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตั้งเป้าหมายหลักในการผลิตครูอนุบาล และวิชาอื่นอีกสามสาขาวิชาชัดเจน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาน่าจะเป็นสถาบันผลิตครูดนตรีไทย ครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีโอกาสผลิตครูนาฏศิลป์ ครูดนตรี ครูพยาบาล ครูคณิตศาสตร์ หรือครูวิทยาศาสตร์ในบางสาขาได้
การที่คุรุสภาและสถาบันผลิตครูจะไปสู่ความเป็นเลิศได้ ทั้งสองหน่วยงานต้องสร้างความเข้าใจต่อกันให้ถ่องแท้ เช่น เมื่อสำเร็จวิชาครูไปแล้ว การจะได้รับใบอนุญาตเป็นครู รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องไปเป็นครูในถิ่นทุรกันดารจะมีอย่างไร จะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูอย่างไร
ในวันหนึ่งข้างหน้า ผู้ที่มีวิชาชีพครูอาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฐานะของตนไปเป็นผู้บริหารก็ได้
แต่ต้องมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครูไปกระทั่งเกษียณ เป็นครูระดับ 9 ระดับ 10 จึงจะถูกต้อง
ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod
เข้าชม : 2212
|