ปัจจุบันโรคไขมันพอกตับยังไม่มียารักษา การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด อ.พญ.มณีรัตน์ ชยานุภัทร์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และอาจารย์พิเศษหน่วยทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอย่างไรให้ปลอดภัยจากไขมันพอกตับมาฝากกัน
อาหารเสี่ยง "ไขมันพอกตับ"
แป้ง น้ำตาล ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง พิซซ่า ของหวาน น้ำอัดลม น้ำหวาน และรวมถึงน้ำผลไม้ (มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง) และผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ ของทอด ไอศกรีม ฯลฯ เด็กอ้วนก็เสี่ยงจะเป็นไขมันพอกตับได้ตั้งแต่วัยรุ่นเช่นกัน ดังนั้นควรระมัดระวังในการกินของทอด ของหวาน ไม่ให้กินมากเกินไปด้วย
นอกจากนี้ พฤติกรรมในการใช้ชีวิตเอื่อยเฉื่อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไขมันพอกตับเช่นกัน
อาการของไขมันพอกตับ
ผู้ป่วยไขมันพอกตับส่วนใหญ่ไม่มีอาการปรากฏให้เห็นชัดเจน มักเจอโดยบังเอิญเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี แต่ในบางรายอาจพบว่ามีอาการอ่อนเพลียง่าย หรือปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา ยกเว้นมีภาวะอ้วน ซึ่งเป็นอ้วนแบบมีพุง และหากผู้ป่วยมีอาการตับแข็งแล้ว อาจตรวจพบลักษณะของโรคตับเรื้อรังด้วย
วิธีป้องกันไขมันพอกตับ
ส่วนใหญ่คนที่เป็นไขมันพอกตับมักมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน มีงานวิจัยพบว่าการลดน้ำหนักลงกว่าเดิม 10% ช่วยลดปริมาณไขมันที่อยู่ในตับได้
ลดปริมาณการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมถึงอาหารหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงต่างๆ โดยเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนให้มากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และใน 1 มื้อให้เป็นคาร์โบไฮเดรต 30% ผักและโปรตีน 50%